สืบเนื่องจากเรื่องอุ้มบุญในบทความก่อนที่ได้เคยเขียนถึงการอุ้มบุญตามกฎหมายไทยมาแล้ว บทความนี้จึงเป็นข้อมูลเรื่องการอุ้มบุญตามกฎหมายต่างประเทศกันบ้างครับว่าแต่ละประเทศนั้นมีกฎหมายหรือบทบัญญัติเช่นใด ลองอ่านเป็นความรู้ได้ครับ
ประเทศอินเดีย
ได้นำเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์มาใช้ก่อนที่จะตรากฎหมายมาบังคับใช้เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน กรณีหญิงชาวอินเดียได้รับจ้างตั้งครรภ์ให้กับนายจ้าง เพื่อหาเงินมารักษาสามีที่พิการ จึงเกิดประเด็นเรื่องกฎหมายและจริยธรรมในสังคมตามมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 ได้มีกฎหมายอนุญาตให้หญิงรวมถึงหญิงที่ยังไม่แต่งงานสามารถตั้งครรภ์แทนผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะในลักษณะอาสาหรือรับจ้าง
ปัจจุบันการตั้งครรภ์แทนกลายเป็นธุรกิจที่สามารถหารายได้อย่างง่ายดาย บางหมู่บ้านในประเทศอินเดียนั้นการรับจ้างตั้งครรภ์แทนเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ผู้หญิงชาวอินเดียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคู่สมรสชาวตะวันตกที่ไม่สามารถมีบุตร หรือแม้แต่คู่สมรสชาวเกย์ ลูกค้าส่วนใหญ่นั้นมาใช้บริการในลักษณะการท่องเที่ยวทางการแพทย์
ประเทศอังกฤษ
มีกฎหมายเกี่ยวกับการรับตั้งครรภ์แทนที่สลับซับซ้อนโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับตั้งครรภ์แทนโดยตรงมีสองฉบับ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ได้แก่
1.SurrogacyArrangementAct1985 มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมไม่ให้มีการตั้งครรภ์แทนในเชิงพาณิชย์ โดยถือว่าการจัดหาเป็นคนกลางเพื่อให้มีการตั้งครรภ์แทนเกิดขึ้นและการโฆษณาชักจูงให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
2.HumanFertilisationandEmbryologyAct1990 มีวัตถุประสงค์หลักที่จะควบคุมการให้บริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์และศึกษาวิจัยตัวอ่อนมนุษย์
ปัจจุบันการรับตั้งครรภ์แทนนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องห้ามตามกฎหมาย SurrogacyArrangementAct1985 ไม่ว่าจะเป็นการรับตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม แต่กำหนดให้สัญญารับจ้างตั้งครรภ์แทนในประเทศอังกฤษเป็นสัญญาที่ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ไม่ว่าโดยคู่สัญญาฝ่ายใดโดยผลของบทบัญญัติของกฎหมายนี้ คู่สมรสที่ว่าจ้างจึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนส่งมอบเด็กแก่ตนเองได้ และในทำนองเดียวกัน หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนก็ไม่อาจเรียกร้องให้คู่สมรสที่ว่าจ้างชำระค่าตอบแทนตามสัญญาได้เช่นกัน ห้ามคนกลางซึ่งจัดให้มีการตั้งครรภ์แทนมิให้แสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากการนั้น เว้นแต่จะเป็นการให้คำปรึกษาหรือจัดให้มีการตั้งครรภ์แทนได้มิได้มุ่งทางการค้าหรือหากำไร และห้ามมิให้มีการโฆษณาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนใดๆ นอกจากนี้ยังกำหนดความรับผิดแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา เช่น เจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา หรือผู้แจกจ่ายหรือกระจายข้อความนั้นอีกด้วย
ประเทศสหรัฐอเมริกา
สิทธิและเสรีภาพในการสืบพันธุ์เป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และการมีองค์กรเอกชนที่ดำเนินการเป็นคนกลางในการจัดให้มีการตั้งครรภ์แทนอย่างเป็นระบบ ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการรับตั้งครรภ์แทนมากที่สุดในโลก แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนในระดับรัฐบาลกลาง (Federal law) ออกมาใช้บังคับ คงมีแต่กฎหมายในระดับมลรัฐ ซึ่งบางรัฐถือว่าการตั้งครรภ์แทนโดยการจ่ายค่าตอบแทนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่บางรัฐมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ โดยขึ้นอยู่กับแนวนโยบายแต่ละมลรัฐ
กลุ่มที่กำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการรับตั้งครรภ์แทน ซึ่งมี 6 มลรัฐ ได้แก่ มิชิแกน ยูทาห์ วอชิงตัน นิวยอร์ค เคนตั๊คกี้ ดิสทริออฟโคลัมเบีย
กลุ่มที่ถือว่าสัญญารับจ้างตั้งครรภ์แทนชอบด้วยกฎหมายและสามารถนำมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ซึ่งมีจำนวน 4 มลรัฐ คือ นิวแฮมเชียร์ เวอร์จิเนีย ฟลอริดา และเนวาดา
ประเทศฝรั่งเศส
การรับตั้งครรภ์แทนที่ไม่มีประโยชน์ทางพาณิชย์และคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย สำหรับสถานะความเป็นบิดามารดาของเด็กที่เกิดจากการรับตั้งครรภ์แทนเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่ง โดยถือตามหลักการที่ว่า หญิงที่ให้กำเนิดเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กและหากหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย ชายผู้เป็นสามีย่อมเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้สามารถที่จะพิสูจน์หักล้างได้ หากมีการรับตั้งครรภ์แทนที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการผสมเทียมโดยการฉีดเชื้อของชายที่ว่าจ้างเข้าไปในมดลูกของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนนั้นจะเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก และในทางปฏิบัติ ชายที่ว่าจ้างนั้นจะได้รับการจดแจ้งว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก ส่วนคู่สมรสของชายนั้นจะต้องรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อไป
ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ประเทศเยอรมนีมีแนวคิดในการห้ามการตั้งครรภ์ลักษณะพิเศษที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติไว้อย่างเคร่งครัด โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับตั้งครรภ์แทนสองฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยคนกลางในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Adoptionsvermittlungsgesetz1989) โดยห้ามการจัดหาหญิงที่ประสงค์จะรับตั้งครรภ์แทนให้แก่คู่สมรสที่จะว่าจ้างให้มีการตั้งครรภ์แทนหรือหาคู่สมรสที่ต้องการจะว่าจ้างให้แก่หญิงที่ประสงค์จะรับตั้งครรภ์แทน รวมทั้งห้ามมิให้มีการโฆษณาเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวด้วย และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองตัวอ่อน (Embryonenschutzgesetz1990) โดยบัญญัติห้ามแพทย์ใช้เทคนิคการผสมเทียมโดยการฉีดเชื้อหรือย้ายฝากตัวอ่อนให้แก่หญิงที่มีความประสงค์ที่จะส่งมอบเด็กให้แก่คู่สมรสที่ว่าจ้างตามสัญญารับตั้งครรภ์แทน การฝ่าฝืนต่อบทบัญญัตินี้ถือเป็นการกระทำผิดทางอาญาที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับตามกฎหมาย โดยผลของกฎหมายฉบับนี้ การรับตั้งครรภ์แทนจึงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
เห็นได้ชัดเจนครับว่าประเทศอินเดียเป็นประเทศที่อนุญาตให้มีการอุ้มบุญได้ค่อนข้างจะเสรี ซึ่งถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ของหญิงอินเดียส่วนหนึ่งเลยทีเดียว เราอยากให้ประเทศของเราเป็นแบบไหนกันครับ
ด้วยความปรารถนาดี
ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ
www.splalaw.com