สำนักงานทนายความ

แสดงกระทู้

ส่วนนี้จะช่วยให้คุณสามารถดูกระทู้ทั้งหมดสมาชิกนี้ โปรดทราบว่าคุณสามารถเห็นเฉพาะกระทู้ในพื้นที่ที่คุณเข้าถึงในขณะนี้


ข้อความ - Preecha Yokthongwattana

หน้า: [1] 2 3 ... 15
1
หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างสามารถไปยื่นเรื่องที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในท้องที่ได้ครับ

2
สามารถเรียกเงินมัดจำคืนได้ครับ และต้องดูข้อสัญญาว่ากำหนดเรื่องการผิดสัญญาไว้เช่นใดบ้างก็สามารถเรียกร้องตามสัญญาได้ เพราะในกรณีเช้นนี้ถือว่าอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิดสัญญาครับ

3
จากประเด็นโฆษณารับทำประกันชีวิตผู้สูงอายุ ที่มีคำโฆษณาเป็นทำนองว่า ?รับทำประกันผู้สูงอายุทุกคน โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ? นั้น หลายต่อหลายคนน่าจะเกิดความสงสัยว่า คนสูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือมีอาการป่วยเจ็บ สามารถทำประกันชีวิตได้ตามคำโฆษณาหรือไม่?

เรื่องนี้คงต้องชี้แจงกันให้ชัดเจนครับว่า การรับทำประกันชีวิต ปกติแล้วต้องผู้เอาประกันภัย ก็มักจะทำสัญญาผ่านตัวแทนประกัน หรือเซลส์ขายประกัน แต่โดยหลักสัญญาประกันชีวิต ก็จะมีข้อความแสดงออก หรือแสดงการรับรองของผู้เอาประกันภัยว่า ตนมิได้ป่วยเป็นโรคต้องห้าม และลงลายมือชื่อรับรองไว้ ซึ่งเอกสารหรือคำรับรองนี้สำคัญมาก เพราะถือเป็นการแสดงเจตนายืนยันว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้ป่วยเป็นโรคต้องห้าม เช่น โรคหัวใจ ความดัน หลอดเลือด มะเร็ง หรือโรคอื่นๆ
ดังนั้น การไม่ตรวจสุขภาพ จึงไม่ได้แปลความว่า คนสูงอายุที่เป็นโรคต้องห้ามจะสามารถเอาประกันภัยได้ตามคำโฆษณา เพราะคำโฆษณา ระบุแต่เพียงว่า ?ไม่ต้องตรวจสุขภาพ? ไม่ได้ระบุว่า ?ป่วยแล้วทำประกันได้? นะครับ

ดังนั้น ผู้สูงอายุ อาจตามไม่ทันเนื้อความในโฆษณา แล้วเข้าใจไปเองว่า ป่วยก็ทำประกันภัยได้ เพราะเขาไม่ตรวจสุขภาพนั้น เป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง
บริษัทรับประกันภัย เขาย่อมอ่านคำรับรองของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ ว่า ผู้เอาประกันภัย เป็นโรค หรือมีประวัติการรักษาพยาบาลโรคต้องห้ามหรือไม่ หากปรากฏว่า มีคำรับรองว่าผู้เอาประกันไม่มีข้อต้องห้ามแล้ว บริษัทรับประกันภัยก็จะออกกรมธรรม์ให้ เพื่อสนองรับและก่อให้เกิดสัญญารับประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ตามแต่ประเภท
แต่หากต่อมา ผู้เอาประกันภัยเกิดความป่วยเจ็บ หรือเสียชีวิต บริษัทผู้รับประกันภัย เขาก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะตรวจสอบประวัติการรักษาพยาบาล หรือประวัติการเจ็บป่วย และหากพบว่า ผู้เอาประกันภัยรู้ทั้งรู้ว่าตนป่วยเจ็บ หรือเป็นโรคต้องห้าม แต่ไปให้คำรับรองไว้ว่าไม่เจ็บป่วย หรือเป็นโรคต้องห้าม เช่นนี้แล้ว ย่อมเข้าข่ายว่าผู้เอาประกันปิดบังข้อความจริงอันควรบอกกล่าวให้ผู้รับประกันภัยทราบ เป็นผลทำให้สัญญาตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 และบริษัทผู้รับประกันภัย อาจบอกล้าง หรือบอกเลิกสัญญาได้ทันทีครับ

การทำประกันภัย โดยหลักกฎหมายแล้ว ถือเอาหลักสุจริตมาบังคับใช้เป็นสำคัญ บุคคลใดมีเจตนาปกปิดข้อความจริง เช่น มีโรคประจำตัว หรือเป็นโรคต้องห้าม แล้วยังไปเสนอขอทำสัญญาประกันชีวิต โดยกรอกแบบฟอร์มยืนยันว่า ตนมิได้เป็นโรคต้องห้าม ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาอื่น เช่น การไม่อ่านสัญญาหรือแบบฟอร์มที่ลงลายมือชื่อ (มีบ่อยที่สุด) เพราะเชื่อคำบอกเล่าของตัวแทนขาย การเสนอทำประกันโดยเข้าใจผิดว่าป่วยก็ทำได้ (จับประเด็นและตีความโฆษณาผิดไป) เช่นนี้ ถือว่าผู้เอาประกันภัยไม่สุจริตนะครับ การกระทำโดยสุจริตที่ศาลให้ความคุ้มครอง เช่น เป็นคนแข็งแรง และไม่มีประวัติการรักษาโรค แล้วขอทำประกัน โดยให้คำรับรองไปตามจริง แม้ต่อมาภายหลังจะตรวจพบมาเป็นโรคต้องห้าม เช่นนี้สัญญาไม่เป็นโมฆียะนะครับ เพราะถือว่าผู้เอาประกันภัยเสนอขอทำประกันโดยสุจริตมาแต่ต้น

โดยสรุปแล้ว ผมจึงอยากให้ทุกคนตระหนักและทำความเข้าใจถึงสัญญาประกันในรูปแบบต่างๆให้ดีครับ ผู้เอาประกันภัย เป็นผู้ทำคำเสนอขอเอาประกันนะครับ ส่วนบริษัทรับประกันจะเป็นผู้รับสนอง โดยการออกกรมธรรม์ให้ ดังนั้น คำโฆษณาต่างๆ จึงเป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้มาทำคำเสนอครับ ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา แต่จะถือเป็นข้อผูกพันประการอื่นใด ซึ่งมีผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามคำโฆษณาหรือไม่ คงต้องรอผลตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่อาจจะมีต่อไปครับ

ด้วยความปรารถนาดี
ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ
www.splalaw.com

4

กฎหมายจากข่าว ภรรยาถอยรถทับสามีเสียชีวิตโดยไม่ตั้งใจ ผิดกฎหมายหรือไม่? อย่างไร ? มาฟังคำตอบจากทนายปรีชากันค่ะ??

จากข่าวที่ภรรยาไม่ถนัดรถเกียร์ออโต้ จึงทำให้ถอยหลังชนสามีเสียชีวิตนั้น หากพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่า ทางฝ่ายภรรยาไม่ได้มีเจตนาที่จะขับรถถอยไปชนผู้ตาย แต่การถอยไปชนผู้ตายนั้น เกิดจากความไม่คุ้นชินกับรถยนต์ที่เป็นระบบเกียร์ออโต้ แม้จะเคยฝึกขับรถมาก่อน แต่ก็เป็นการฝึกหักขับรถแบบใช้เกียร์ธรรมดา ซึ่งต้องถือว่าภรรยายังขาดความชำนาญ ดังนั้นการถอยรถยนต์ไปชนผู้ตาย ซึ่งเกิดจากอาการตกใจ และไม่คุ้นชินกับรถใหม่ จึงเผลอเยียบคันเร่งโดยเข้าใจว่าเป็นเบรคนั้น จึงถือเป็นการกระทำโดยขาดความระมัดระวังตามสมควร ซึ่งบุคคลผู้กระทำพึงจะต้องมีความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรไม่ ซึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท เมื่อภรรยาไม่ได้ระมัดระวังในการขับขี่จนทำให้เกิดเหตุถอยรถไปชนสามีเสียชีวิต การกระทำของภรรยาจึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องเหตุที่เกิดขึ้น เกิดมาจากความตกใจกลัวประกอบกับความไม่ชำนาญของภรรยา และผู้ตายเป็นสามีตนเองด้วยแล้ว ข้อเท็จจริงนี้ย่อมยกขึ้นเป็นเหตุเพื่อขอให้ศาลลงโทษสถานเบาได้ด้วยครับ

ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ


5
คุณต้องดำเนินการชำระหนี้ธนาคารให้แล้วเสร็จจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ครับ

6
การจะโอนที่ดินให้พี่ชายคุณนั้น คุณสามารถดำเนินการได้ในฐานะผู้จัดการมรดก แต่กรณีดังกล่าวที่ดินยังติดภาระค้ำประกันเงินกู้ เมื่อผู้ค้ำเสียชีวิต ธนาคารจึงต้องปรับโครงสร้างโดยให้ผู้จัดการมรดกเซ็นเอกสารค้ำประกันใหม่ แต่เป็นการเซ็นในฐานะผู้จัดการมรดกเท่านั้น ซึ่งมีผลเฉพาะทรัพย์มรดกครับ

7
โดยหลักแล้ว การฟ้องนั้นถือว่าผู้ให้เช่าซื้อได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ดังนั้น หากคุณจะไปจ่ายค่างวดอีกคงไม่มีประโยชน์ ติดต่อผู้ให้เช่าซื้อเลยครับ หรือไปเจรจาที่ศาลแล้วค่อยจ่ายจะดีกว่า

8
ไม่น่าจะเกี่ยวกับคุณนะครับ อันนั้นเป็นหน้าที่ผู้ขายที่ต้องดำเนินการให้สามารถปฎิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายได้ ซึ่งผู้ขายต้องเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมเองครับ

9
ลักษณะคล้ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่ครับ จะมีการชักชวนให้ร่วมลงทุนและจะมีเงินปันผลให้ จริงๆเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ มีการเตือนกันมาตลอด การลงทุนที่รอเงินปันผลโดยไม่ต้องทำงานอะไร มักเป็นธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงต่อการหลอกลวง คุณก็ควรรวมตัวกันหลายๆคน และไปแจ้งความ หากมีผู้เสียหายจำนวนมากพอก็ไปติดต่อร้องทุกข์ที่ดีเอสไอดูครับ ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ดีเอสไออาจรับเป็นคดีพิเศษได้ หรือไปร้องที่สคบ.อีกช่องทางครับ แต่ต้องทำใจเรื่องการได้เงินคืนอาจยากครับ (ศึกษาดูจากเคสยูฟันได้ครับ)

10
ในกรณีเช่นนี้ไฟแนนซ์มีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าส่วนต่างได้ โดยเราอาจไปขอผ่อนชำระในชั้นศาลได้ครับ

11
ปรึกษาไปยังหน่วยงานที่รับทำพลาสปอร์ตเลยครับว่าต้องดำเนินการเช่นใด

12
วางระเบิดมีโทษถึงประหารชีวิต !!!
วางระเบิดมีโทษถึงประหารชีวิต !!!
จากเหตุการณ์ที่มีการวางระเบิดที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เกี่ยวข้องกำลังเร่งติดตามตัวผู้ก่อเหตุเพื่อนำตัวมาลงโทษ ผมจึงขอพูดถึงความผิดและโทษของการวางระเบิด ตามกฎหมายไทย ว่าได้มีบัญญัติไว้อย่างไรบ้างนะครับ
การวางระเบิด ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในหมวดความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามมาตรา 221,222,218 และ 224 ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อการกระทำดังกล่าวได้เกิดความเสียหายกับทรัพย์ซึ่งเป็นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง และยังเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสหลายรายด้วย จึงถือว่าผู้กระทำมีความผิด ตามมาตรา 222 และ 224 ต้องรับโทษหนักขึ้น โดยมีโทษสูงสุด คือประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลึกซึ้งแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่า ผู้ก่อเหตุประสงค์ให้เกิดการระเบิดขึ้นในที่ชุมชน มีผู้คนพลุกพล่าน ประกอบกับมีการตระเตรียมการที่จะวางระเบิดมาเป็นอย่างดี กรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่า ผู้ก่อเหตุมีเจตนาประสงค์ต่อชีวิตของผู้คนบริเวณนั้นด้วย เพราะระเบิดถือเป็นอาวุธร้ายแรง ที่อาจสังหารบุคคลที่อยู่ใกล้กับการระเบิดได้ทันที การกระทำของผู้ก่อเหตุจึงถือได้ว่ามีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289 (4) ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวครับ การกระทำที่อุกอาจและก่อความโกลาหลในบ้านเมืองขนาดนี้ไม่ควรจะมีเหตุลดโทษใดๆ แม้คนร้ายจะรับสารภาพก็ตามครับ

ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ

13
ซื้อที่ดินห้ามโอน ย่อมมีความเสี่ยงเสมอ แม้จะทำเอกสารรัดกุมเพียงใดก็ตาม ไม่ทำการกระทำที่ผิดมาแต่ต้นถูกต้องได้ ฎีกาเตือนสติ!!!

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2554
กรณีปัญหาเรื่องนี้ เกิดจากการที่โจทก์ตกลงขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนกับจำเลย โดยโจทก์ทั้งสามและจำเลยได้หลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย โดยตกลงซื้อขายที่ดินรวม 4 แปลงต่อกันในราคา 4,199,850 บาท แต่ทำเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แล้วโจทก์ทั้งสามส่งมอบการครอบครองที่ดินให้จำเลยเข้าปลูกสร้างอาคารชั้นเดียวจำนวน 21 หลัง และสร้างตลาดสดเก็บค่าเช่า โดยจดทะเบียนการเช่าให้จำเลยไว้เป็นเวลา 30 ปี เพื่ออำพรางการซื้อขายอีกทั้งโจทก์ทั้งสามยังทำพินัยกรรมไว้ด้วยว่า เมื่อโจทก์ทั้งสามถึงแก่ความตายให้ที่ดินของโจทก์แต่ละคนตกเป็นของจำเลยหรือทายาทผู้จัดการมรดกของจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายและเพิกถอนพินัยกรรม ท้ายที่สุดศาลฎีกาตัดสินให้โจทก์ชนะคดี ซ้ำยังมีข้อความที่วินิจฉัย แสดงให้เห็นว่า ?การกระทำอันเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ย่อมเป็นผลร้ายเสมอ? ตัวอย่างคดีนี้ จำเลยผู้จะซื้อที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน แม้ชำระราคาไปแล้ว และศาลพิพากษาว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นโมฆะ ซึ่งคู่สัญญาสมควรที่จะได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมายก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ ศาลฎีกาก็มิได้พิพากษาหรือวินิจฉัยให้มีการคืนเงินค่าที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อแต่อย่างใด โดยถือว่า การที่ผู้จะซื้อชำระหนี้ไป เป็นการกระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิจะได้รับเงินดังกล่าวคืน
อุทาหรณ์/ข้อเตือนใจ
ที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย แม้จะหลีกเลี่ยงกันอย่าง หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า มีการจงใจซื้อขายที่ดินโดยหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย สัญญาที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะถือว่าเป็นนิติกรรมที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนะครับ การชำระหนี้ที่เกิดตามมา จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจที่มิอาจเรียกคืนได้ ดังนั้น ที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน แม้จะราคาถูก หรือที่สวยเพียงใด ผู้สนใจซื้อพึงยับยั้งชั่งใจและใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายที่ดินประเภทนี้ด้วยนะครับ

ด้วยความปรารถนาดี
ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ

14
หากคุณเป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็ก หรือได้มีการรับรองบุตรเรียบร้อยแล้ว คุณก็มีสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงหากคุณเป็นเจ้าบ้านก็สามารถย้ายที่อยู่ของบุตรได้ แต่อย่างไรก็ควรเจรจาตกลงกันครับ การจะย้ายไปย้ายมาไม่ใช่ทางแก้ปัญหาครับ

15
อาจต้องไปปรึกษากับธนาคารเรื่องการขอรีไฟแนนซ์โดยการเปลี่ยนผู้กู้ ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารครับ แต่หากโดยปกติแล้วจะต้องหาเงินมาปิดหนี้เก่าและทำการโอนที่ดินให้เรียบร้อยจึงดำเนินการเรื่องกู้ใหม่กับธนาคาร

16
ความรับผิดจากความชำรุดของบันไดเลื่อน
จากกรณีบันไดเลื่อนชำรุดและพังลงมาซึ่งเป็นข่าวดังในขณะนี้ โชคดีมากที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตความรับผิดทางกฎหมายจะเป็นเช่นใด

บันไดเลื่อนที่อยู่ในอาคารสถานที่ต่างๆ มีลักษณะการทำงานขับเคลื่อนโดยเครื่องจักรกล เมื่อเกิดกรณีที่มีบุคคลหรือทรัพย์ ได้รับอันตราย หรือเกิดความเสียหาย จากการใช้บันไดเลื่อน หลายคนคงสงสัยว่า ใครจะเป็นผู้รับชอบความเสียหายดังกล่าว ในเรื่องนี้ เรามาพิจารณากันตามหลักกฎหมายนะครับ ซึ่งคงไม่พ้นหลักกฎหมายเรื่อง ?ละเมิด? ว่าแต่การกระทำละเมิดในลักษณะแบบนี้ ทางกฎหมายเขามีวิธีคิดกันอย่างไร ลองอ่านตามดูนะครับ
อันตรายที่เกิดแก่บุคคลหรือทรัพย์ จากการใช้บันไดเลื่อน หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า มูลเหตุแห่งละเมิดนั้น โดยหลักทั่วไปแล้ว ผู้ก่ออันตรายก็ย่อมต้องเป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ในเรื่องความเสียหายที่เกิดจากบันไดเลื่อน ที่เกิดแก่ผู้ใช้งาน มีหลักกฎหมายในเรื่องละเมิดอยู่มาตราหนึ่ง ที่กำหนดเป็นหลักว่า ?ผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้น บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง? ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 วรรคสอง
ดังนั้น ตามหลักดังกล่าวข้างต้น บันไดเลื่อน เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีการเคลื่อนที่โดยเดินด้วยเครื่องจักรกล ที่มีกำลังส่งสูง โดยสภาพการใช้งาน หรือโดยความมุ่งหวังแห่งการใช้งาน จึงไม่จะเกิดอันตรายได้ แต่บันไดเลื่อน น่าจะถือว่าเป็นของอาจเกิดอันตรายได้โดยอาการกลไกของทรัพย์นั้น ทั้งนี้โดยพิจารณาเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2545 ผู้ครอบครองจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการใช้งานบันไดเลื่อนครับ
ส่วนที่ว่า ใครจะเป็นผู้ครอบครองซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายนั้น โดยหลักกฎหมาย ก็ย่อมหมายความถึงผู้ที่เป็นเจ้าของ และ/หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือผู้ที่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายให้ครอบครองดูแลทรัพย์ดังกล่าวครับ ผู้ที่ใช้งานปกติจึงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ส่วนใครที่ใช้งานผิดวิธี เล่นกระโดด กระแทก เขย่า หรือก่อเหตุใดๆแก่บันใดเลื่อน แล้วเกิดอันตราย ตามกฎหมายถือว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายเองนะครับ เจ้าของเขาสามารถยกเป็นข้อต่อสู้ให้เขาพ้นจากความรับผิดได้ครับ

ด้วยความปรารถนาดี
ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ
www.splalaw.com

17
คุณนิติ

คุณสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทได้เต็มที่เลยครับ เพราะทางบริษัทนั้นได้กำไรจากการขายบ้านไปแล้ว แต่จะเจรจาได้เพียงใดนั้นไม่อาจทราบได้ แต่กระบวนการฟ้องร้อง (หากบริษัทจะฟ้อง)ก็ใช้เวลานานและอาจขอผ่อนจ่ายกับศาลได้ คุณลองไปเจรจาดูครับ ยิ่งหากสามารถจ่ายงวดเดียวได้บริษัทก็อาจลดได้เยอะครับ ขอให้โชคดีครับ

18
หุ้นเป็นสินสมรสหรือไม่???
   สาระกฎหมายจากข่าวดัง
   จากกรณีการตายของเสี่ยเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ตามที่มีข่าวดัง และก่อนการตายมีการโอนหุ้นให้แคทดี้สาวเป็นมูลค่าหลายล้านบาทนั้น มาลองดูตามหลักกฎหมายนะครับว่าหุ้นนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ และหากปรากฎว่าหุ้นนั้นเป็นสินสมรสแล้วภรรยาจะสามารถเรียกคืนได้หรือไม่
   มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรมหรือการให้ที่ระบุว่าเป็นสินสมรส หรือกรณีที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
   ทางด้านสินส่วนตัวนั้น หมายถึง ทรัพย์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส หรือที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ หรือการได้รับมรดก การให้โดยเสน่หา
   จากกรณีการโอนหุ้นไปให้แคทดี้สาวนั้น อันดับแรกต้องพิจารณว่าหุ้นดังกล่าวได้มาขณะสมรสหรือก่อนสมรส หากเป็นกรณีที่ได้มาก่อนสมรส หุ้นนั้นเป็นสินส่วนตัว ซึ่งอำนาจการจัดการสินส่วนตัว ตกเป็นสิทธิของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้จัดการ
   แต่หากปรากฎชัดว่าได้มาระหว่างสมรส หุ้นนั้นก็ตกเป็นสินสมรส อย่างไรก็ตามกฎหมายได้กำหนดว่า หากเกิดกรณีที่ไม่แน่ชัดว่าเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ให้สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส และอำนาจในการจัดการสินสมรสนั้น สามีและภรรยาต้องจัดการร่วมกัน เช่นในกรณีการให้โดยเสน่หาตามกรณีที่ปัญหาเกิดขึ้น
   ซึ่งหากหุ้นนั้นเป็นสินสมรส ในเรื่องของการให้โดยเสน่หา สามีและภรรยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนถึงจะสามารถทำได้ หากมีการฝ่าฝืนเกิดขึ้น คู่สมรสอีกฝ่ายสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หานี้ได้ อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นที่ไม่สามารถเพิกถอนได้เช่น คู่สมรสอีกฝ่ายให้สัตยาบันแล้ว หรือบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริต และ เสียค่าตอบแทน แต่การให้โดยเสน่ห์ไม่เสียค่าตอบแทนจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายครับ
   ดังนั้นหากปรากฎว่าหุ้นนั้นเป็นสินสมรส และการโอนหุ้นนี้หากไม่ได้จัดการร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย ทางด้านภรรยาสามารถฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนเฉพาะในส่วนที่ตนมีสิทธิได้


19
สืบเนื่องจากเรื่องอุ้มบุญในบทความก่อนที่ได้เคยเขียนถึงการอุ้มบุญตามกฎหมายไทยมาแล้ว บทความนี้จึงเป็นข้อมูลเรื่องการอุ้มบุญตามกฎหมายต่างประเทศกันบ้างครับว่าแต่ละประเทศนั้นมีกฎหมายหรือบทบัญญัติเช่นใด ลองอ่านเป็นความรู้ได้ครับ

ประเทศอินเดีย
ได้นำเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์มาใช้ก่อนที่จะตรากฎหมายมาบังคับใช้เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน กรณีหญิงชาวอินเดียได้รับจ้างตั้งครรภ์ให้กับนายจ้าง เพื่อหาเงินมารักษาสามีที่พิการ จึงเกิดประเด็นเรื่องกฎหมายและจริยธรรมในสังคมตามมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 ได้มีกฎหมายอนุญาตให้หญิงรวมถึงหญิงที่ยังไม่แต่งงานสามารถตั้งครรภ์แทนผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะในลักษณะอาสาหรือรับจ้าง

ปัจจุบันการตั้งครรภ์แทนกลายเป็นธุรกิจที่สามารถหารายได้อย่างง่ายดาย บางหมู่บ้านในประเทศอินเดียนั้นการรับจ้างตั้งครรภ์แทนเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ผู้หญิงชาวอินเดียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคู่สมรสชาวตะวันตกที่ไม่สามารถมีบุตร หรือแม้แต่คู่สมรสชาวเกย์ ลูกค้าส่วนใหญ่นั้นมาใช้บริการในลักษณะการท่องเที่ยวทางการแพทย์

ประเทศอังกฤษ
มีกฎหมายเกี่ยวกับการรับตั้งครรภ์แทนที่สลับซับซ้อนโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับตั้งครรภ์แทนโดยตรงมีสองฉบับ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ได้แก่

1.SurrogacyArrangementAct1985 มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมไม่ให้มีการตั้งครรภ์แทนในเชิงพาณิชย์ โดยถือว่าการจัดหาเป็นคนกลางเพื่อให้มีการตั้งครรภ์แทนเกิดขึ้นและการโฆษณาชักจูงให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

2.HumanFertilisationandEmbryologyAct1990 มีวัตถุประสงค์หลักที่จะควบคุมการให้บริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์และศึกษาวิจัยตัวอ่อนมนุษย์

ปัจจุบันการรับตั้งครรภ์แทนนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องห้ามตามกฎหมาย SurrogacyArrangementAct1985 ไม่ว่าจะเป็นการรับตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม แต่กำหนดให้สัญญารับจ้างตั้งครรภ์แทนในประเทศอังกฤษเป็นสัญญาที่ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ไม่ว่าโดยคู่สัญญาฝ่ายใดโดยผลของบทบัญญัติของกฎหมายนี้ คู่สมรสที่ว่าจ้างจึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนส่งมอบเด็กแก่ตนเองได้ และในทำนองเดียวกัน หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนก็ไม่อาจเรียกร้องให้คู่สมรสที่ว่าจ้างชำระค่าตอบแทนตามสัญญาได้เช่นกัน ห้ามคนกลางซึ่งจัดให้มีการตั้งครรภ์แทนมิให้แสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากการนั้น เว้นแต่จะเป็นการให้คำปรึกษาหรือจัดให้มีการตั้งครรภ์แทนได้มิได้มุ่งทางการค้าหรือหากำไร และห้ามมิให้มีการโฆษณาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนใดๆ นอกจากนี้ยังกำหนดความรับผิดแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา เช่น เจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา หรือผู้แจกจ่ายหรือกระจายข้อความนั้นอีกด้วย

ประเทศสหรัฐอเมริกา
สิทธิและเสรีภาพในการสืบพันธุ์เป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และการมีองค์กรเอกชนที่ดำเนินการเป็นคนกลางในการจัดให้มีการตั้งครรภ์แทนอย่างเป็นระบบ ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการรับตั้งครรภ์แทนมากที่สุดในโลก แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนในระดับรัฐบาลกลาง (Federal law) ออกมาใช้บังคับ คงมีแต่กฎหมายในระดับมลรัฐ ซึ่งบางรัฐถือว่าการตั้งครรภ์แทนโดยการจ่ายค่าตอบแทนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่บางรัฐมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ โดยขึ้นอยู่กับแนวนโยบายแต่ละมลรัฐ

กลุ่มที่กำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการรับตั้งครรภ์แทน ซึ่งมี 6 มลรัฐ ได้แก่ มิชิแกน ยูทาห์ วอชิงตัน นิวยอร์ค เคนตั๊คกี้ ดิสทริออฟโคลัมเบีย

กลุ่มที่ถือว่าสัญญารับจ้างตั้งครรภ์แทนชอบด้วยกฎหมายและสามารถนำมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ซึ่งมีจำนวน 4 มลรัฐ คือ นิวแฮมเชียร์ เวอร์จิเนีย ฟลอริดา และเนวาดา

ประเทศฝรั่งเศส
การรับตั้งครรภ์แทนที่ไม่มีประโยชน์ทางพาณิชย์และคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย สำหรับสถานะความเป็นบิดามารดาของเด็กที่เกิดจากการรับตั้งครรภ์แทนเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่ง โดยถือตามหลักการที่ว่า หญิงที่ให้กำเนิดเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กและหากหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย ชายผู้เป็นสามีย่อมเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้สามารถที่จะพิสูจน์หักล้างได้ หากมีการรับตั้งครรภ์แทนที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการผสมเทียมโดยการฉีดเชื้อของชายที่ว่าจ้างเข้าไปในมดลูกของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนนั้นจะเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก และในทางปฏิบัติ ชายที่ว่าจ้างนั้นจะได้รับการจดแจ้งว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก ส่วนคู่สมรสของชายนั้นจะต้องรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อไป

ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ประเทศเยอรมนีมีแนวคิดในการห้ามการตั้งครรภ์ลักษณะพิเศษที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติไว้อย่างเคร่งครัด โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับตั้งครรภ์แทนสองฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยคนกลางในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Adoptionsvermittlungsgesetz1989) โดยห้ามการจัดหาหญิงที่ประสงค์จะรับตั้งครรภ์แทนให้แก่คู่สมรสที่จะว่าจ้างให้มีการตั้งครรภ์แทนหรือหาคู่สมรสที่ต้องการจะว่าจ้างให้แก่หญิงที่ประสงค์จะรับตั้งครรภ์แทน รวมทั้งห้ามมิให้มีการโฆษณาเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวด้วย และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองตัวอ่อน (Embryonenschutzgesetz1990) โดยบัญญัติห้ามแพทย์ใช้เทคนิคการผสมเทียมโดยการฉีดเชื้อหรือย้ายฝากตัวอ่อนให้แก่หญิงที่มีความประสงค์ที่จะส่งมอบเด็กให้แก่คู่สมรสที่ว่าจ้างตามสัญญารับตั้งครรภ์แทน การฝ่าฝืนต่อบทบัญญัตินี้ถือเป็นการกระทำผิดทางอาญาที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับตามกฎหมาย โดยผลของกฎหมายฉบับนี้ การรับตั้งครรภ์แทนจึงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามกฎหมาย

เห็นได้ชัดเจนครับว่าประเทศอินเดียเป็นประเทศที่อนุญาตให้มีการอุ้มบุญได้ค่อนข้างจะเสรี ซึ่งถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ของหญิงอินเดียส่วนหนึ่งเลยทีเดียว เราอยากให้ประเทศของเราเป็นแบบไหนกันครับ

ด้วยความปรารถนาดี
ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ
www.splalaw.com


20
อุ้มบุญโดยชอบด้วยกฎหมายไทย!!!

วันนี้มาว่าด้วยเรื่องของการอุ้มบุญในประเทศไทยนั้นมีการร่างกฎหมายมานาน และเพิ่งมีการประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ โดยกฎหมายฉบับนี้ มีชื่อเรียกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งไม่ได้เปิดให้มีการอุ้มบุญโดยเสรี แต่การอุ้มบุญนั้นต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามกฎหมาย ได้แก่

1. สามีภรรยาที่ประสงค์จะอุ้มบุญต้องเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสัญชาติไทย ซึ่งภรรยาไม่อาจตั้งครรภ์...
2. ในกรณีที่สามีหรือภรรยามิได้มีสัญชาติไทยต้องมีการจดทะเบียนสมรสกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
3. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภรรยา
4. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น
5. ถ้าหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีสามีโดยชอบหรือมีสามีที่อยู่กินฉันสามีภรรยา ต้องได้รับความยินยอมจากสามีนั้นด้วย
6. ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน
7. เด็กนั้นเป็นบุตรโดยชอบของสามีภรรยาซึ่งประสงค์จะมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้สามีหรือภรรยานั้นจะตายไปก่อนเด็กเกิด
8. ส่วนชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิหรือไข่ซึ่งนํามาใช้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือผู้บริจาคตัวอ่อน และเด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าว ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามกฎหมาย
 กฎหมายไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการรับตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า (ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท) และห้ามมิให้มีคนกลาง หรือนายหน้าเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อชี้ช่องหรือจัดการให้มีการตั้งครรภ์แทน อีกทั้งห้ามโฆษณาเกี่ยวกับการรับตั้งครรภ์แทน (ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท) การกระทำการที่ฝ่าฝืนดังกล่าวนั้นมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด


ดังนั้นในกรณีมีคู่รักร่วมเพศที่มาว่าจ้างอุ้มบุญในประเทศไทยที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังในขณะนี้ เนื่องจากแม่อุ้มบุญไม่ยินยอมส่งมอบเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญให้ตามที่ได้ตกลงกัน จนเกิดกระแสสังคม และการนำเสนอข่าวอย่างกว้างขวางนั้ น เราลืมตระหนักไปหรือไม่ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายไทย ทั้งคนที่มาว่าจ้างอุ้มบุญ คนที่รับจ้าง และนายหน้า (Agency) ที่จัดให้มีการอุ้มบุญขึ้น ล้วนแล้วแต่กระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น การนำเสนอของสื่อจึงควรระมัดระวังที่จะไม่เป็นการชี้ช่องหรือสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการรับจ้างอุ้มบุญ หรือเช่ามดลูกกันอย่างเปิดเผย จนทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายไป ซึ่งประเทศเราไม่ได้รองรับสิ่งเหล่านี้เหมือนในประเทศอินเดีย การที่สื่อถามเปรียบทียบการตัดสินใจมาอุ้มบุญในไทยกับอินเดีย จึงไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้ประเทศของเราเป็นแหล่งหนึ่งในกระบวนการค้ามนุษย์ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ ณ ปัจจุบันครับ

ขอเพิ่มเติมข้อมูลนะครับ พรบ.อุ้มบุญฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเษกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2558 ดังนั้น ในกรณีที่เป็นข่าวจึงยังไม่สามารถนำพรบ.ฉบับนี้มาใช้บังคับได้ แต่การพิจารณาประเด็นนี้เราก็ต้องกลับไปสู่หลักกฎหมาย นั่นคือ ก่อนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... บังคับใช้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดสถานภาพของเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และการรับตั้งครรภ์แทนไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น การพิจารณาสถานภาพของเด็กจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวมาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ความเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก มาตรา 1546 กำหนดให้หญิงที่ให้กำเนิดบุตรเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพการสมรสของหญิงนั้น แต่ความเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายต้องพิจารณาจากสถานภาพการสมรสของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน หากหญิงนั้นสมรสตามกฎหมาย กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน (มาตรา 1563) หากหญิงนั้นไม่มีการสมรสตามกฎหมาย เด็กก็ไม่มีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย คู่สมรสที่เป็นผู้ว่าจ้างซึ่งมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับเด็กซึ่งต้องมีสถานะเป็นพ่อแม่บุญธรรมของเด็ก โดยจะต้องรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายในเรื่องของการรับบุตรบุญธรรมครับ

เราเห็นใจ สงสารได้ แต่ต้องไม่ลืมหลักการของกฎหมายและผลกระทบต่อประเทศของเรานะครับ อย่างไรก็ขอให้ตกลงกันได้นะครับ

ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ
www.splalaw.com


21
ติดต่อสอบถามที่สำนักงานที่ดินในท้องที่เลยครับ

22
ขอตอบตามหลักกฎหมายดังนี้นะครับ

1. ทางจำเป็น ให้พิจารณาจากที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะครับ ถ้าเป็นที่ดินตาบอด โดยทั่วไปก็จะเข้าหลักที่จะฟ้องขอใช้ทางจำเป็นจากที่ดินข้างเคียงได้ครับ

2. ภาระจำยอม เกิดได้ทั้งการทำสัญญาต่อกัน ซึ่งมีทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียน กับทางภาระจำยอมที่ได้โดยการใช้ทางมานานกว่า 10 ปี อันเป็นการเกิดภาระจำยอมโดยอายุความครับ

ความแตกต่างของ ทางจำเป็น กับ ภาระจำยอม คือ ภาระจำยอม เจ้าของที่ดินที่ได้ประโยชน์ (สามยทรัพย์) อาจไม่ใช่ที่ดินตาบอดก็ได้ แต่ได้ใช้ทางอย่างเป็นภาระจำยอมมาตลอด ส่วนทางจำเป็น เป็นเรื่องที่ดินตาบอดครับ

3-4. การซื้อที่ดินตามที่แจ้งมาเพื่อปลูกสร้างบ้าน หากจะมีปัญหาก็คงไม่พ้นเรื่องทางจำเป็นครับ คงต้องดูแนวเขตที่ดินให้รอบครอบ แต่การวางแผนเพื่อเว้นระยะเผื่อไว้ ก็ถือว่าแก้ปัญหาไว้ได้ดีแล้วนะครับ

5. การมีเสาไฟ ไม่ได้แปลว่าถนนเป็นทางสาธารณะ แต่ถนนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนมอบให้เป็นสาธารณะ ก็ไม่ได้แปลความว่าไม่เป็นถนนสาธารณะเสมอไปครับ ทุกอย่างต้องดูที่ข้อเท็จจริง เช่น มีการอุทิศให้เป็นทางสาธารณะแล้ว แต่ไม่ได้เปแก้ทะเบียน แบบนี้ ก็เป็นทางสาธารณะแล้วครับ

ด้วยความปารถนาดี
ปรีชา หยกทองวัฒนา

23
หมิ่นประมาท กับดุลพินิจในการรอลงอาญา

หมิ่นประมาท กับดุลพินิจในการรอลงอาญา

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า คดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาท เป็นคดีความผิดเล็กน้อย และเป็นความผิดอันยอมความได้ แม้โดยมากจะเป็นที่รู้กันว่า คดีประเภทนี้ ศาลมีโอกาสที่จะพิพากษาให้รอการลงโทษได้มากกว่าการที่จะพิพากษาให้จำเลยที่กระทำผิดต้องโทษจำคุกเพราะว่าเป็นคดีอาญาประเภทความผิดที่ไม่ร้ายแรง ถ้าผู้กระทำความไม่เคยกระทำผิดมาก่อน และมีเหตุสมควรให้รอการลงโทษอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ตามที่เป็นข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ จะเห็นได้ว่า คดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาบางกรณี ศาลอาจพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่รอลงอาญาได้นะครับ เรามาดูองค์ประกอบ หรือเหตุที่ศาลหยิบยกมาวินิจฉัยกันแบบสรุปนะครับ

1.พิจารณาจากตัวผู้กระทำความผิด เช่น เป็นคนมีความรู้สูง เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นคนที่เป็นบุคคลสาธารณะ ที่มีโอกาสที่จะชี้นำทางสังคมได้


2.ใช้สื่อสาธารณะในการใส่ความบุคคลอื่น


3.เรื่องที่ใส่ความ ไม่เป็นความจริง หรือ เป็นความจริงแต่ไม่ใช่เรื่องที่สังคมควรรับรู้


4.ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกใส่ความเป็นอย่างมาก โดยอาจพิจารณาสถานะทางสังคมของผู้เสียหายประกอบด้วย


การใส่ความบุคคลอื่น เป็นสิ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองไว้นะครับ การเผยแพร่ข้อเท็จจริงใดๆไปตามสื่อสาธารณะ แม้บางเรื่องเป็นความจริง แต่หากเป็นการใส่ความผู้อื่น ก็อาจเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาได้ครับ ในปัจจุบันจึงต้องพึงระวังและไตร่ตรองถึงการพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่นให้ดี ยิ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนยิ่งต้องพึงระวังนะครับ ตัวอย่างก็มีให้เห็นกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณี พิธีกรชื่อดังที่ศาลไม่รอลงอาญา และล่าสุดคือ กรณีนักการเมืองคนหนึ่งที่ศาลได้พิพากษาให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นกันครับ

ด้วยความปรารถนาดี

ปรีชา หยกทองวัฒนา

ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ

www.splalaw.com

24
โพสต์ภาพลามกอนาจารมีความผิดตามกฎหมายอย่างไร???

สำหรับการโพสต์ภาพหรือคลิปวีดีโอลามกอนาจารนั้น นอกจากจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามพรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับสูงสุด 200,000 บาทแล้ว
ยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วยนะครับ
ซึ่งความผิดทั้งสองฐานนั้น แตกต่างกัน โดยความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องการนำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันลามากอนาจาร ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นเรื่องการใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามครับ ซึ่งเจ้าตัวหรือบุคคลในภาพหรือในคลิปที่ถูกนำออกเผยแพร่ อาจไม่ได้ยินยอมด้วยในการนำคลิปออกเผยแพร่ต่อบุคคลที่สาม หรือยิ่งไปกว่านั้น หากมีการอ้างชื่อบุคคลที่หน้าตาคล้ายคลึงกันไว้ด้วย แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ใช่คนในคลิปลามกดังกล่าว คนที่ถูกอ้างชื่อ ก็ย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการใส่ความดังกล่าวเช่นกันครับ
ผู้เสียหายในความผิดที่เกี่ยวข้อง ก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวได้ด้วย เพราะถือเป็นการกระทำละเมิดตามกฎหมายครับ

ด้วยความปรารถนาดี
ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ

25
คำถามมีข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนนะครับ ขอแยกตอบเป็นกรณีตามนี้ครับ

1. หากเป็นที่ดินมีโฉนด ก็สามารถฟ้องขับไล่ได้ครับ แต่ผู้ครอบครองอาจยกข้อต่อสู้เรื่องครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้ออ้าง เพื่อแสดงต่อศาลได้เช่นกันครับ หลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ ก็คือ ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ นานกว่า 10 ปี ครับ

2. หากเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีแต่เพียงสิทธิครอบครอง (หมายถึง ที่ดินประเภทที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ เช่น นส.3/ นส.3ก/ที่เสียภาษีบำรุงท้องที่...) ผู้ครอบครองต้องใช้สิทธิครอบครองที่ดินด้วยนะครับ จะครอบครองเอง หรือให้บุคคลอื่นครอบครองแทนก็ได้ แต่หากมีบุคคลภายนอกมาแย่งการครอบครอง กฎหมายก็กำหนดให้ผู้ที่เข้ามาแย่งการครอบครอง เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง หากครอบครองโดยสงบ เปิดเผย นานกว่า 1 ปี ครับ

ดังนั้น การถือครองที่ดิน พึงต้องระมัดระวัง และหมั่นไปดูแลที่ดินของตัวเองกันด้วยนะครับ

ด้วยความปรารถนาดี
ทนายปรีชา หยกทองวัฒนา

26
ตามกฎหมายแล้ว เมื่อกู้เงินซื้อบ้านร่วมกัน บ้านจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย ซึ่งผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันในตัวบ้าน ดังนั้นจึงไม่สามารถไล่อีกฝ่ายออกจากบ้านได้ครับ ในส่วนพฤติกรรมการติดยาเสพย์ติดก็ต้องลองดูเรื่องการแจ้งความ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายครับ

27
ทนายอาสา ทนายความอาสา เป็นคำทั่วไปที่ใช้เรียกทนายความ ที่ทำหน้าที่ทนายความให้แก่ลูกความ โดยไม่คิดค่าตอบแทนจากลูกความครับ ส่วนจะมีรายได้ทางอื่นหรือไม่ ก็แล้วแต่กรณีนะครับ แต่โดยพื้นฐาน คือ ทนายความที่มีจิตอาสา ให้การช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่ลูกความโดยไม่มีค่าตอบแทน งานที่ทนายอาสาทำให้ได้ ก็เป็นงานทนายความ ซึ่งมีทั้งงานว่าความในศาล และงานให้คำปรึกษากฎหมายครับ จะขอยกตัวอย่างทนายอาสาให้เห็นภาพดังนี้ครับ

-ทนายขอแรง ถือเป็นทนายอาสาอย่างหนึ่งครับ เป็นทนายความที่ขึ้นทะเบียนชื่อไว้ตามศาลต่างๆ ทำหน้าที่เป็นทนายความให้กับคู่ความในคดี กรณีที่คู่ความนั้นๆ ร้องขอจากศาลว่าต้องการทนายความ เช่น จำเลยคดีอาญาที่ต้องการทนายความเพื่อว่าต่างแก้ต่างคดี โดยปกติ ทนายขอแรงก็จะไม่เรียกเก็บค่าทนายจากลูกความครับ แต่จะได้ค่าตอบแทนในการทำคดีจากศาล ภายหลังจากคดีนั้นสิ้นสุดแล้วครับ ส่วนการที่ลูกความเกิดความพึงพอใจในการทำงาน และช่วยเหลือทนายขอแรงโดยให้ค่าทำงาน ค่าเดินทาง ก็สามารถทำได้ครับ

-ทนายอาสาในองค์กรต่างๆ เช่น สภาทนายความฯ สมาคมทนายความฯ สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภาสตรีแห่งชาติ หรือ ทนายอาสาในองค์กรไม่แสวงหากำไรอื่นๆ (NGO) ซึ่งอาจมีทั้งที่อยู่ในรูปแบบ สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรที่ไม้ได้จดทะเบียน รวมถึงภาคเอกชนอื่นๆที่เสนอตัวช่วยเหลือสังคมโดยไม่คิดค่าตอบแทน ซึ่งมีหลายแหล่งมากครับ ที่คอยทำงานช่วยเหลือสังคม ทนายความจำพวกนี้ เป็นจิตอาสาที่อาจสังกัดอยู่ในองค์กรต่างๆ ทำหน้าที่เป็นทนายอาสากรณีมีคนเดือดร้อน ร้องขอความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเขาอาจมีรายได้จากเงินช่วยเหลือจากองค์กรนั้นๆได้บ้างครับ แต่ทนายอาสาก็จะไม่เรียกเก็บค่าวิชาชีพทนายจากลูกความเป็นสำคัญครับ ส่วนขั้นตอนการให้การช่วยเหลือ เป็นเรื่องที่บุคคลผู้เดือดร้อน ต้องเข้าไปชี้แจงแถลงไขให้ผู้รับเรื่องเขาพิจารณา ว่าจะให้ความช่วยเหลือได้หรือไม่ หรือเพียงใดครับ
 

28
โนตารีปับลิก หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่รับสาบาน รับรองเอกสารบางอย่าง โดยการลงลายมือชื่อและประทับตรา เพื่อให้เอกสารมีความน่าเชื่อถือ และใช้ยืนยันในต่างประเทศได้ ให้การยอมรับและรับรองเอกสาร และตราสาร และมีอำนาจโต้แย้งเอกสารและตราสารในเชิงพาณิชย์ จดบันทึกเอกสารต่างประเทศ โต้แย้งข้อพิพาททางทะเลเกี่ยวกับความสูญหายหรือเสียหาย เจ้าพนักงานที่มีอำนาจรัฐรับคำสาบานและรับรองความถูกต้องของลายมือชื่อ

ในประเทศไทยนั้น เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยโนตารีปับลิก ทางสภาทนายความฯจึงได้จัดให้มีการอบรมทนายความเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้รับรองเอกสาร เรียกว่า ทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร ( Notarial Services Attorney) โดยมีหน้าที่ในการรับรองลายมือชื่อในเอกสาร รับรองนิติกรรมที่เอกชนทำขึ้น รับรองคำแปลเอกสาร รับรองข้อเท็จจริง รับรองสำเนาเอกสาร รับรองความมีอยู่ของเอกสาร จัดทำคำสาบาน จัดทำบันทึกคำให้การ ทำคำคัดค้านตราสาร และรับรองตัวบุคคล ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรับรองกรณีนำเอกสารนั้นไปใช้ในต่างประเทศ ตามข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ ซึ่งคล้ายคลึงหรือเสมือนกับโนตารีปับลิก แต่ไม่ได้เรียกว่า โนตารีปับลิกนะครับ

29
ความเห็นทางกฎหมายของทนายปรีชากรณีบ้านยุบ!!! #ทนายปรีชา

กรณีการซื้อขายบ้านในโครงการจัดสรร เป็นการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างประเภทบ้านจัดสรร ที่ผู้ซื้อย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย การซื้อขายจึงเป็นการซื้อที่ดินที่มีราคารวมสิ่งปลูกสร้างคือบ้าน ตัวบ้าน และที่ดินโดยรอบบ้าน จึงเป็นวัตถุแห่งหนี้ครับ
ตามหลักสัญญาซื้อขาย ในเรื่องของหน้าที่ความรับผิดของผู้ขาย มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ขายต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ซื้อขาย กล่าวคือ บ้านและที่ดินสำหรับใช้อยู่อาศัย วิญญูชน (คนทั่วไป) คงมุ่งหวังที่จะใช้ประโยชน์ในการอยู่อาศัยตลอดไป (เปรียบเทียบกับการอนุมัติระยะเวลาผ่อนชำระบ้านที่ธนาคารกำหนดให้ผ่อนได้สูงสุดถึง 30 ปี ย่อมหมายความว่า บ้านจัดสรรทั่วไป โดยเฉพาะส่วนที่เป็นโครงสร้าง ย่อมสมควรที่จะใช้งานได้ตามปกติเป็นระยะเวลานานใกล้เคียงกัน) ซึ่งตามมาตรฐานสากล คงต้องเป็นไปตามหลักทางสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมครับ

สำหรับการที่บ้านจัดสรรโครงการดัง เกิดเหตุดินยุบตัวอย่างหนัก บางบ้านยุบตัวลึกลงไปถึง 50 cm. ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการรับมอบทรัพย์สินมานานระยะหนึ่งแล้ว ตามหลักกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่เกิดความชำรุดบกพร่อง (พื้นดินส่วนโรงรถทรุดตัวอย่างหนัก) แก่ทรัพย์สินที่ซื้อขาย ภายหลังจากส่งมอบแล้ว และความชำรุดดังกล่าว เป็นความชำรุดที่ไม่อาจเห็นได้ในขณะส่งมอบทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ผู้ซื้อเสื่อมประโยชน์ในการใช้สอยทรัพย์สินที่ซื้อขาย เช่นนี้ ผู้ขายยังมีหน้าที่ต้องรับผิดในการแก้ไขเยียวยาผลร้ายตามสัญญาซื้อขายนะครับ

ส่วนผู้ขายจะเยียวยาด้วยวิธีการใด เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ แต่ตามหลักกฎหมาย การทรุดตัว หากเกิดขึ้นขนาดหนักจนถึงขนาดไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านได้เลย ผู้ซื้ออาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขาย โดยให้ผู้ขายชดใช้ค่าบ้านคืน ก็อาจทำได้ครับ ประเด็นสำคัญคือ สิทธิในการเรียกให้ผู้ขายแก้ไขเยียวยา ผู้ซื้อจะต้องใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่พบความชำรุดบกพร่องนะครับ

30
การเรียกค่าเสียหาย ย่อมสามารถกระทำได้ในการฟ้องทางแพ่ง เมื่อผู้ที่ชนอ้างว่าไม่มีเงินให้ ก็สามารถยึดทรัพย์สินใช้ค่าเสียหายได้ แต่จะขอให้ศาลจำคุกแทนมิได้ เนื่องจาการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งมิใช่เป็นกรณีเดียวกันกับการฟ้องทางอาญา
แต่หากเป็นกรณีการฟ้องทางอาญา หากผู้ที่ชนไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับครับ

หน้า: [1] 2 3 ... 15