อุ้มบุญโดยชอบด้วยกฎหมายไทย!!!
วันนี้มาว่าด้วยเรื่องของการอุ้มบุญในประเทศไทยนั้นมีการร่างกฎหมายมานาน และเพิ่งมีการประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ โดยกฎหมายฉบับนี้ มีชื่อเรียกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งไม่ได้เปิดให้มีการอุ้มบุญโดยเสรี แต่การอุ้มบุญนั้นต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามกฎหมาย ได้แก่
1. สามีภรรยาที่ประสงค์จะอุ้มบุญต้องเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสัญชาติไทย ซึ่งภรรยาไม่อาจตั้งครรภ์...
2. ในกรณีที่สามีหรือภรรยามิได้มีสัญชาติไทยต้องมีการจดทะเบียนสมรสกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
3. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภรรยา
4. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น
5. ถ้าหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีสามีโดยชอบหรือมีสามีที่อยู่กินฉันสามีภรรยา ต้องได้รับความยินยอมจากสามีนั้นด้วย
6. ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน
7. เด็กนั้นเป็นบุตรโดยชอบของสามีภรรยาซึ่งประสงค์จะมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้สามีหรือภรรยานั้นจะตายไปก่อนเด็กเกิด
8. ส่วนชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิหรือไข่ซึ่งนํามาใช้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือผู้บริจาคตัวอ่อน และเด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าว ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามกฎหมาย
กฎหมายไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการรับตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า (ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท) และห้ามมิให้มีคนกลาง หรือนายหน้าเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อชี้ช่องหรือจัดการให้มีการตั้งครรภ์แทน อีกทั้งห้ามโฆษณาเกี่ยวกับการรับตั้งครรภ์แทน (ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท) การกระทำการที่ฝ่าฝืนดังกล่าวนั้นมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้นในกรณีมีคู่รักร่วมเพศที่มาว่าจ้างอุ้มบุญในประเทศไทยที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังในขณะนี้ เนื่องจากแม่อุ้มบุญไม่ยินยอมส่งมอบเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญให้ตามที่ได้ตกลงกัน จนเกิดกระแสสังคม และการนำเสนอข่าวอย่างกว้างขวางนั้ น เราลืมตระหนักไปหรือไม่ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายไทย ทั้งคนที่มาว่าจ้างอุ้มบุญ คนที่รับจ้าง และนายหน้า (Agency) ที่จัดให้มีการอุ้มบุญขึ้น ล้วนแล้วแต่กระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น การนำเสนอของสื่อจึงควรระมัดระวังที่จะไม่เป็นการชี้ช่องหรือสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการรับจ้างอุ้มบุญ หรือเช่ามดลูกกันอย่างเปิดเผย จนทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายไป ซึ่งประเทศเราไม่ได้รองรับสิ่งเหล่านี้เหมือนในประเทศอินเดีย การที่สื่อถามเปรียบทียบการตัดสินใจมาอุ้มบุญในไทยกับอินเดีย จึงไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้ประเทศของเราเป็นแหล่งหนึ่งในกระบวนการค้ามนุษย์ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ ณ ปัจจุบันครับ
ขอเพิ่มเติมข้อมูลนะครับ พรบ.อุ้มบุญฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเษกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2558 ดังนั้น ในกรณีที่เป็นข่าวจึงยังไม่สามารถนำพรบ.ฉบับนี้มาใช้บังคับได้ แต่การพิจารณาประเด็นนี้เราก็ต้องกลับไปสู่หลักกฎหมาย นั่นคือ ก่อนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... บังคับใช้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดสถานภาพของเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และการรับตั้งครรภ์แทนไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น การพิจารณาสถานภาพของเด็กจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวมาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ความเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก มาตรา 1546 กำหนดให้หญิงที่ให้กำเนิดบุตรเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพการสมรสของหญิงนั้น แต่ความเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายต้องพิจารณาจากสถานภาพการสมรสของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน หากหญิงนั้นสมรสตามกฎหมาย กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน (มาตรา 1563) หากหญิงนั้นไม่มีการสมรสตามกฎหมาย เด็กก็ไม่มีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย คู่สมรสที่เป็นผู้ว่าจ้างซึ่งมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับเด็กซึ่งต้องมีสถานะเป็นพ่อแม่บุญธรรมของเด็ก โดยจะต้องรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายในเรื่องของการรับบุตรบุญธรรมครับ
เราเห็นใจ สงสารได้ แต่ต้องไม่ลืมหลักการของกฎหมายและผลกระทบต่อประเทศของเรานะครับ อย่างไรก็ขอให้ตกลงกันได้นะครับ
ปรีชา หยกทองวัฒนา
ที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ
www.splalaw.com