ค้างค่างวด ถูกบอกเลิกสัญญา รถถูกยึด ต้องจ่ายค่างวดที่ค้างชำระหรือไม่
เมื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้วประสบปัญหา การค้างค่างวด ทำให้ถูกบอกเลิกสัญญา และถูกยึดรถ ซ้ำร้ายทางผู้ให้เช่าซื้อ(ไฟแนนซ์)มีหนังสือเรียกให้ชำระหนี้ส่วนที่เหลืออีก เพราะในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ มีข้อกำหนดว่า ?ผู้ให้เช่าซื้อสามารถเรียกค่างวดที่ค้างชำระได้? เราในฐานะผู้เช่าซื้อรถยังจะต้องจ่ายค่างวดที่ค้างชำระอีกหรือไม่? และถ้าไม่มีเงินจ่ายจะติดคุกหรือไม่? เป็นปัญหาที่พบมาก
ในเบื้องต้นต้องบอกก่อนเลยว่าถ้าเข้าลักษณะที่ว่า ?ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย? สบายใจได้เลยว่า ไม่ติดคุกแน่ เพราะเนื่องจากในเรื่องนี้เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ส่วนการเรียกเงินค่างวดที่ค้างชำระ ตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าซื้อ ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่างวดตามที่กำหนดในสัญญา เช่น สองงวดหรือสองคราวติดๆกัน ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิ 2 ประการ คือ
1) มีสิทธิริบบรรดาเงินทั้งหลาย อาทิ เงินดาวน์ และค่างวดที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระมาแล้วทั้งหมด
2) มีสิทธิกลับเข้าครอบครองรถ คือ ยึดรถกลับคืนได้
โดยค่างวดหรือค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระอยู่ก่อนผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญานั้น แต่เดิมศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า ผู้ให้เช่าซื้อสามารถเรียกร้องเอาจากผู้เช่าซื้อได้ ต่อมามี (คำพิพากษาฎีกาที่ 1195/2511) วินิจฉัยวางหลักใหม่ว่า ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้เช่าซื้อชำระค่างวดที่ค้างชำระอีก มีเพียงสิทธิใน 2 ประการดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเท่านั้น เหตุเพราะ เงินค่าเช่าซื้อในแต่ละงวดนั้นเป็นการชำระค่าใช้ทรัพย์ เมื่อได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วก็เท่ากับว่าไม่มีคำมั่นว่าจะขายทรัพย์อีกต่อไป หากผู้ให้เช่าซื้อสามารถเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่จนครบ ก็จะทำให้ผู้ให้เช่าซื้อได้รับชำระจากผู้เช่าซื้อมากเกินสมควร
แต่อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้เช่าซื้อชำระค่างวดที่ค้างชำระดังกล่าวได้อีก แต่สามารถเรียกค่าเสียหายหากรถนั้นชำรุดเสียหายและเรียกค่าเสียหายจากการเลิกสัญญาได้ และถึงแม้ในสัญญาจะมีข้อกำหนดให้เรียกค่างวดที่ค้างชำระได้ ศาลฎีกาถือว่าเป็นการกำหนดความรับผิดในความเสียหาย เนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า ซึ่งศาลมีอำนาจปรับลดถ้าเห็นว่าสูงเกินควรได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 356/2548) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1496/ 2548)