สำนักงานทนายความ

แสดงกระทู้

ส่วนนี้จะช่วยให้คุณสามารถดูกระทู้ทั้งหมดสมาชิกนี้ โปรดทราบว่าคุณสามารถเห็นเฉพาะกระทู้ในพื้นที่ที่คุณเข้าถึงในขณะนี้


ข้อความ - Preecha Yokthongwattana

หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15
391
เอาหลักฐานไปแจ้งความได้เลยครับ แต่อายุความร้องทุกข์คดีข้อหาฉ้อโกง มีอายุความ 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดนะครับ

392
การตกลงยกเลิกภาระจำยอมก็ดี การตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หรือตกลงเปลี่ยนแปลงทางภาระจำยอม สามารถทำได้โดยความยินยอมของเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์และเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ครับ ยกเลิกฝ่ายเดียวทำไม่ได้นะครับ

การเจรจาคงต้องหาคนที่มีทักษะสักนิดแล้วละครับ การเสนอเงินทดแทนน่าจะช่วยให้บรรยากาศการพูดคุยดีขึ้นและง่ายขึ้นด้วยครับ

การกระทำอื่นใดที่ทำให้ที่ดินข้างเคียงเสียหาย อาจเป็นละเมิดได้ครับ ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องบังคับค่าเสียหายได้

การตรวจสอบทะเบียนที่ดิน ไปตรวจดูได้ที่สำนักงานที่ดินท้องที่ที่ตั้งของที่ดินครับ ตรวจจากสารบบแปลงเดิม (แปลงคง)

ลองตรวจสอบดูนะครับ

393
การต่อสู้คดีในกระบวนการชั้นศาล โดยเฉพาะศาลชั้นต้น เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งครับ ดังนั้น เรื่องนี้จะเป็นอุทธาหรณ์ให้กับอีกหลายๆคนที่ได้เข้ามาอ่าน เพราะคำว่าแพะรับบาป รวมถึงการกลั่นแกล้งในทางคดีความมันมีอยู่จริงในสังคมนี้

ศาลไม่อาจรู้ความจริงได้ทั้งหมด การพิจารณาจึงต้องว่าไปตามพยานหลักฐานที่นำเข้าสืบในศาลชั้นต้นเป็นสำคัญ เมื่อข้อเท็จจริงยุติ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของศาล (ทุกชั้น) ที่จะนำข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากีบข้อกฎหมาย และพิจารณาสั่ง หรือทำคำพิพากษาไปตามรูปคดี

กรณีของคุณ (ถ้าเป็นความจริง) ก็อาจจะเป็นการสร้างพยานหลักฐาน โดยเฉพาะประจักษ์พยาน (คนที่เห็นเหตุการณ์ และไปยืนยันในศาล) เท่านี้ศาลก็ฟังลงโทษจำเลยได้แล้วครับ

การต่อสู้เพื่อทำลายน้ำหนักคำพยานเหล่านี้ จึงต้องตั้งหลักและเตรียมตัวให้ดี เพื่อที่ข้อเท็จจริงในศาลชั้นต้น จะได้รับฟังเป็นยุติถึงข้อพิรุธของพยานด้วยครับ

การแก้ไขในชั้นคดีถึงที่สุด ยังมีอีกช่องทาง คือการรื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ เพราะเหตุมีพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น และเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ อันอาจจะทำให้ศาลกลับคำวินิจฉัยได้ครับ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีคดีที่ศาลหยิบยกขึ้นมา เพื่อพิจารณาหลักฐานใหม่น้อยมากๆ เนื่องจาก คำว่าพยานหลักฐานใหม่ นั้นหมายถึงพยานหลักฐานใหม่จริงๆ ไม่ใช่พยานที่มีอยู่แล้ว แต่ผิดพลาด หรือผิดหลงไม่นำไปสืบในศาลชั้นต้น

เป็นกำลังใจให้นะครับ

394
เป็นการกำหนดวิธีการจ่ายเงินโบนัสครับ นายจ้างสามารถกำหนดได้ตามสมควร เพราะเงินโบนัสไม่ใช่ค่าจ้าง จึงสามารรถทำได้ครับไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแรงงานครับ

395
เป็นรูปแบบของหนังสือมอบอำนาจให้ทนายความอยู่แล้วครับ เพื่อความสะดวกในการดำเนินคดี ซึ่งโดยปรกติทนายความจะตัดสินใจอะไรก็ต้องปรึกษาลูกความอยู่แล้วครับ ยิ่งในเรื่องของการประนีประนอมยอมความหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการจำหน่ายสิทธิ์นั้น ทนายความจะไม่ดำเนินการโดยพลการ เพราะอาจมีความผิดตามพรบ.ทนายความได้ หากจะว่าจ้างทนายความเพื่อว่าความนั้นต้องมีความไว้วางใจกันทั้งสองฝั่งนะครับ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีได้ครับ

396
กรณีนี้เป็นคดีอาญาครับ ทางตำรวจจะต้องทำสำนวนเพื่อส่งฟ้องศาล ลองติดตามเรื่องสำนวนกับทางตำรวจดูครับ โดยแจ้งว่าเราประสงค์จะดำเนินคดี เนื่องจากผู้กระทำผิดไม่เยี่ยวยาความเสียหายแก่เรา อาจจะช้าหน่อยต้องทำใจครับ ในส่วนประกันนั้นจะไม่ค่อยยอมจ่ายซึ่งอาจจะต้องฟ้องร้องครับ

397
ขอข้อมูลเพิ่มครับว่า ที่ยอมเซ็นต์ไปก่อนคือเอกสารอะไร เนื้อหาเป็นอย่างไรครับ (น่าจะเป็นบันทึกประจำวันของตำรวจอย่างเดียวหรือเปล่าครับ)

398
กรณีนี้อาจเป็นการฉ้อโกงได้ ลองรวบรวมหลักฐานต่างๆไปแจ้งความข้อหาฉ้อโกงนะครับ เพื่อให้ตำรวจตรวจสอบและรวบรวมหลักฐาน และส่งให้อัยการฟ้องต่อไปครับ

399
ในการเข้าเป็นผู้ค้ำประกันนั้น อย่างไรก็ต้องทำใจครับ เพราะต้องรับผิดร่วมกับผู้ซื้อเสมือนเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่ในกรณีนี้มีการขายทอดกตลาดรถไปแล้วแสดงว่าผู้ซื้อได้คืนรถให้กับบริษัทไป พอจะมีแนวทางต่อสู้ได้บ้าง แต่อย่างไรรบกวนติดต่อทางโทรศัพท์ครับ (อาจมีค่าวิชาชีพกรณีให้คำปรึกษาครับ เพราะเป็นกรณีพิเศษ)

400
ในกรณีนี้ ถือว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร และใช้กำลังประทุษร้าย ในส่วนที่มีการหวงกั้นให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวซึ่งไม่สามารถเข้าไปได้ จึงสามารถแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกได้ และข้อหาทำร้ายร่างกายด้วยครับ

401
ในกรณีนี้เป็นเงื่อนไขในการเข้าใช้บริการในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งหน่วยงานมีสิทธิในการกำหนด เพราะอาจเป็นเรื่องของความปลอดภัยของผู้ใช้บริการทั้งหมด หากบุคคลใดไม่ยอมปฎิบัติตามเงื่อนไขก็คงไม่สามารถเข้าใช้บริการได้ครับ
ซึ่งการถ่ายภาพเพื่อยืนยันตัวบุคคล ไม่น่าจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแต่อย่างใดครับ เพราะไม่ได้เป็นการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายให้ต้องได้รับบาดเจ็บหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด

402
จริงๆแล้วในกรณีเช่นนี้ หากยังไม่ได้รับเงินค่าซ่อมตามที่ได้ตกลงกันไว้ ก็ยังไม่ควรส่งมอบเครื่องยนต์ไปนะครับ เพราะตามกฎหมายแล้วทางผู้ซ่อมมีสิทธิยึดหน่วงเครื่องไว้จนกว่าผู้ว่าจ้างจะชำระราคาครบครับ
หากส่งมอบไปแล้วและผู้ว่าจ้างไม่จ่ายเงินก็คงต้องดำเนินการทางกฎหมายครับ โดยเริ่มจากการทวงถามโดยทนายความ ไปจนถึงขั้นฟ้องร้อง ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องของการจ้างทำของตามกฎหมายแล้วไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องได้ครับ

403
การซื้อขายจะต้องมีการโอนโดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเจ้าของที่ดินเสียชีวิตไปแล้ว ทายาท (ลูกสาวคนเล็ก)ต้องไปร้องต่อศาลเพื่อขอเป็นผู้จัดการมรดกก่อนครับ จึงจะสามารถโอนที่ดินได้
หากซื้อมาโดยไม่มีการโอนทางทะเบียนที่ถูกต้อง จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมาย แต่ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าเป็นที่ดินประเภทใด เพราะที่ดินมีหลายประเภทครับ เช่น ที่ดินมีโฉนด ที่ดินน.ส.3 หรือพวกใบตราจอง การได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองจะแตกต่างกันครับ

404
ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 2 พ.ศ.2551) ในมาตรา 23 ได้แก้ไขใหม่ โดยนายจ้างสามารถจ้างงานได้สูงสุดไม่เกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน แต่รวมแล้วไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีอย่างน้อยหนึ่งวันทำงานไม่เกินแปดชั่วโมง อย่างของคุณการหยุดเสาร์เว้นเสาร์เป็นการชดเชยเวลาซึ่งถูกต้องตามกฎหมายแล้วครับ

405
กรณีนี้เป็นเรื่องการจดสิทธิบัตรยา คงต้องดูกฎหมายของประเทศอินโดนีเซียด้วยครับ เพราะกฎหมายแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน หากเป็นประเทศไทยผู้คิดค้นสามารถขอจดสิทธิบัตรในชื่อตนเองได้ แต่หากเป็นการคิดค้นโดยเป็นลูกจ้างของบริษัทแล้วส่วนใหญ่จะมีการเซ็นต์สัญญาให้ผลงานตกเป็นของบริษัทครับ ซึ่งการจดชื่อร่วมสามารถทำได้เป็นไปตามที่ตกลงกันครับ

406
ในกรณีของการเปิดเผยข้อมูลบริษัท หากจะถูกแจ้งความดำเนินคดีเป็นคดีอาญานั้น น่าจะเป็นกรณีหมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ต้องลองพิจารณาดูว่า เราพูดอะไรไปบ้าง ถึงขั้นทำให้บริษัทเสียหายหรือไม่ หากไม่ถึงขัั้นเสียหายก็ไม่ต้องกังวลใจครับ และความผิดในข้อหานี้ก็สามารถยอมความได้ครับ
กรณีบริษัทจะฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง ก็ต้องดูว่าเรามีข้อสัญญากับบริษัทหรือไม่ หรือการกระทำของเราเป็นการละเมิดต่อบริษัทหรือไม่ ผมว่าไม่น่ากังวลใจมาก ไว้ถูกฟ้องจริงแล้วค่อยว่ากันครับ เรามีทีมทนายที่มีประสบการณ์ครับ

407
การชำระเงินโดยไม่มีใบรับเงินค่อนข้างเสียเปรียบนะครับ เวลาจะเรียกร้องเงินคืนค่อนข้างลำบาก แต่ก็มีช่องทางของกฎหมายในการจัดการครับ เช่นรวมตัวกันกับเพื่อนๆที่โดนลักษณะเดียวกัน ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ว่าถูกฉ้อโกง และให้ตำรวจจับกุมดำเนินคดีได้ หลังจากนั้นจึงค่อยเจรจาต่อรองเรื่องค่าเสียหายกันอีกครั้งครับ การดำเนินการทางแพ่งกรณีอื่นๆก็สามารถจะทำได้ครับ โดยการตั้งเรื่องฟ้องคดีครับ ซึ่งค่าทนายความอาจจะสูงกว่าเงินที่เรียกร้องนะครับ ลองพิจารณาดูครับ

408
การกำหนดเวลาทำงานระหว่างวัน โดยทั่วๆไปนายจ้างสามารถกำหนดได้อิสระ แต่ไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงครับ แต่ลักษณะของงานก็มีผลต่อการกำหนดเวลาทำงานได้เหนือนกันครับ ว่าแต่คุณ puriku27 ทำงานลักษณะใดครับ เผื่อจะตอบได้เจาะจงกว่านี้ครับ

409
ทำได้ครับ รวบรวมหลักฐานไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุ (ท้องที่ที่ตรวจสอบพบการกระทำผิด) ส่วนในเรื่องข้อความจะต้องพิจารณาอีกทีว่าเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ เพราะข้อความหยาบคายบางข้อความอาจเป็นแค่คำด่าที่ไม่ถึงขั้นหมิ่นประมาท ต้องดูที่ข้อความอีกทีครับ

410
กรณีนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่าที่แจ้งมา ตอบได้ ดังนี้

ข้อ 1. จากข้อความ ? หากไม่ได้สินค้าครบจะคืนเงินทุกบาททุกสตางค์? ทำให้เราหลงเชื่อนั้น ยังไม่ปรากฎเจตนาฉ้อโกงในทางอาญาชัดเจน แต่เป็นความรับผิดในทางแพ่งที่เกี่ยวกับสัญญามากกว่า เว้นเสียจากมีพฤติการอื่นๆประกอบมากกว่านี้ เช่น ได้เงินแล้วปิดหน้าเวป หรือโอนเงินแล้วไม่สามารถติดต่อได้ เจตนาในทางอาญาฐานฉ้อโกงจะชัดเจนขึ้น และการจะเป็นฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ ต้องดูที่เจตนาในการแสดงข้อความเท็จต่อประชาชนและจำนวนผู้เสียหายประกอบด้วย

ข้อ 2.การดำเนินการทางกฎหมายในทางแพ่งสามารถฟ้องร้องได้ในเรื่องผิดสัญญา โดยให้ชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ส่วนในทางอาญาน้ำหนักยังน้อยแต่อาจไปแจ้งความ เพื่อให้สามารถมาตกลงกันในชั้นพนักงานสอบสวนได้ (หากพนักงานสอบสวนรับแจ้ง)

411
จะมีความผิดหรือไม่อยู่ที่ศาลตัดสินครับ กรณีนี้พอจะมีข้อต่อสู้อยู่บ้าง แต่ถ้าเขาแจ้งความและเรื่องถึงตำรวจก็จะยุ่งยากหน่อยนะครับ

ส่วนเรื่องการไปเป็นพยาน แนะนำให้แจ้งไปว่าจะเบิกความหรือให้การตามความจริงครับ เพราะเบิกความเท็จก็เป็นความผิดอาญานะครับ

412
ต้องขอโทษสำหรับหลายๆคำถามที่ยังไม่ได้ตอบให้นะครับ

เนื่องจากสำนักงานฯได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงระบบ internet ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข การดำเนินการหลายๆเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน รวมถึงงานประจำค่อนข้างล่าช้าเป็นอย่างมาก

กระทู้หลายๆคำถามถ้าไม่ยากมาก และไม่ต้องค้นคว้าผมจะพยายามเร่งทยอยตอบให้เมื่อมีเวลานะครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับ

414
ต้องขออภัยที่มาตอบช้านะครับ พอดีติดธุระเรื่องงานและการเข้าไปสะสางเอกสารที่ทำงาน ซึ่งถูกน้ำท่วมครับ ไม่ว่างเข้ามาตอบเลยครับ

เรื่องที่คุณtiti ถามมาพอจะตอบแบบตรงไปตรงมาได้ดังนี้นะครับ

1. สามี-ภรรยา ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนั้น โดยหลักทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันจะเป็นกรรมสิทธิ์รวมครับ (มีสิทธิคนละครึ่ง) แต่ กรณีของคุณที่ถามมา ข้อเท็จจริงค่อนข้างชัดว่า สามีรับราชการ (งานส่วนตัว) ภรรยาก็ทำงานรับจ้าง ต่างฝ่ายต่างมีงานแยกจากกันชัดเจน เช่นนี้ เงินที่ทำมาหาได้ จึงเป็นเงินสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแยกจากกันครับ

2. สามีภรรยาที่ไม่จดทะเบียนสมรส ภรรยา ย่อมไม่อาจเอาผิดสามีในเรื่องการไปมีภรรยาน้อยได้ครับ เพราะไม่มีสถานะทางกฎหมายเป็น "คู่สมรส" ครับ

3. เรื่องหนี้สินระหว่างอยู่กินกัน ถ้าใช้ชื่อภรรยา ในการทำนิติกรรม คงจะไม่อาจไปฟ้องบังคับให้สามีรับผิดชอบได้ครับ คงเป็นเรื่องภายในที่ต้องคุยกันเองแล้วครับ

ผมเคยทำคดีฟ้องกรรมสิทธิ์รวมระหว่างสามีภรรยาที่ไม่จดทะเบียน ซึ่งกรณีนั้นค่อนข้างชัดว่ามีการทำมาหาได้ร่วมกันและนำเงินไปซื้อทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่ซื้อจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมครับ ถ้ามีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็แจ้งมาได้ครับ เพราะเรื่องครอบครัวส่วนใหญ่มีรายละเอียดเยอะ อาจทำให้แง่มุมทางกฎหมายเปลี่ยนได้ครับ

415
เป็นคำถามที่มักมีผู้สงสัยสอบถามเข้ามาจำนวนมากครับ

เมื่อท่านถูกฟ้องล้มละลาย และศาลยังม่ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ท่านยังสามารถทำนิติกรรมได้ครับ

แต่... ในการทำนิติกรรมจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์บางรายการในระหว่างที่ถูกฟ้องล้มละลาย รวมถึงถูกฟ้องบังคับชำระหนี้ในคดีแพ่งทั่วไปด้วย เช่น การโอนขาย/ยกให้ ที่ดิน บ้าน รถยนต์ หรือทรัพย์ที่มีทะเบียนที่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ท่านอาจเข้าข่ายมีความผิดอาญาในข้อหา "โกงเจ้าหนี้" ได้นะครับ

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ กรณีนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ซึ่งหากท่านมีเจตนาที่จะไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้ว ก็เข้าข่ายเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรานี้ครับ สำหรับบทกำหนดโทษ ก็คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ ความผิดฐานนี้เป็นความผิดที่สามารถยอมความกันได้ครับ

ใครที่คิดจะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ ได้โปรดพึงระวังไว้สักนิดครับ เพราะความผิดอาญามีผลกระทบถึงสิทธิส่วนตัว คือมีโทษถึงจำคุกนะครับ

นอกจากนี้ การโอนทรัพย์สินออกไปในระหว่างที่ถูกฟ้องคดี นิติกรรมการโอนทรัพย์ ก็อาจถูกเพิกถอนได้ด้วยเช่นกันครับ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย

สำหรับความเสี่ยงต่อคดีอาญานอกเหนือจากนี้ ซึ่งผมขอแนะนำให้พึงระวัง คือการไปหลอกขายทรัพย์ให้บุคคลภายนอกครับ ตรงนี้นอกจากเจ้าหนี้จะดำเนินคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ได้แล้ว ท่านอาจถูกผู้ซื้อทรัพ์ดำเนินคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงซ้ำอีกกระทงก็เป็นได้นะครับ

416
เป็นข่าวในสังคมกฎหมายนะครับ เอามาลงเผยแพร่เป็นข้อมูลความรู้ครับ
(ขออภัยที่จำแหล่งข่าวไม่ได้ครับ)

ประหารชีวิตนักโทษยาเสพย์ติด

เรือนจำกลางบางขวาง ฉีดยาประหารชีวิตนักโทษคดีค้ายาเสพติด 2 รายซ้อน พร้อมยึดทรัพย์สินกว่า 41 ล้านบาท ถือเป็นการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศ ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงจากยิงเป้ามาฉีดยา เผยขั้นตอนฉีดแค่ 3 เข็ม ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาหยุดการเต้นของหัวใจ
   
    วันนี้ (24 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรือนจำกลางบางขวาง ได้ทำการประหารชีวิตนักโทษคดียาเสพติดรายสำคัญ 2 ราย มี นช.บัณฑิต เจริญวานิช อายุ 45 ปี และ นช.จิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ อายุ 52 ปี นักโทษคดียาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งถูกจับกุมพร้อมของกลางยาบ้า 100,000 เม็ด โดยประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษในแดนประหาร และถือเป็นการฉีดยาพิษประหารเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 มาตรา 19 เปลี่ยนการประหารชีวิตจากการยิงเป้ามาเป็นฉีดยา หรือสารพิษให้ตาย
   
    ทั้งนี้ ขั้นตอนก่อนประหารชีวิตดังกล่าว หลังฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตกมายังกรมราชทัณฑ์ เรือนจำจะปกปิดเป็นความลับ จนกว่าจะเก็บนักโทษทั้งหมดเข้าเรือนนอนในเวลา 15.30 น.จากนั้นเรือนจำจะเบิกตัวนักโทษที่ต้องรับโทษประหารชีวิตออกมา และแจ้งให้ทราบถึงผลฎีกา เพื่อให้เขียนพินัยกรรมสั่งเสีย หรือให้โทรศัพท์สั่งเสียกับญาติพี่น้องก่อนการประหารชีวิต 1 ชั่วโมง จากนั้นเรือนจำจะจัดอาหารมื้อสุดท้ายให้แก่นักโทษ และนิมนต์พระสงฆ์วัดบางแพรกใต้ เข้ามาแสดงธรรม เมื่อถึงเวลาจะนำนักโทษประหารขึ้นรถ และนำตัวเข้าสู่แดนประหาร ซึ่งก่อนเข้าสู่แดนประหาร ผู้คุมจะนำนักโทษเข้าสักการะศาลเจ้าพ่อเจตตคุปต์และกราบไหว้ต้นโพธิ์ 3 ต้น หน้าแดนประหาร จากนั้นจะนำตัวนักโทษเข้าสู่ห้องฉีดสารพิษ และปิดตานักโทษด้วยผ้าดำ รวมทั้งให้นักโทษถือดอกไม้ธูปเทียนและหันหน้าไปทางวัดบางแพรกใต้ ที่อยู่ติดกับแดนประหาร
   
    ส่วนขั้นตอนในแดนประหาร เรือนจำจะยังคงล่ามโซ่ตรวนไว้ และให้นักโทษนอนบนเตียงประหารชีวิต ซึ่งมีผ้าขาวสำหรับห่อศพวางรองอยู่ และทำการขึงแขนนักโทษให้ติดกับเตียงทั้ง 2 ข้างในท่ากางแขน และนำเข็มฉีดยาปักไปที่ข้อมือทั้ง 2 ข้าง ทำการฉีดยาจำนวน 3 เข็ม เข็มที่ 1 คือ ยานอนหลับ เข็มที่ 2 เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ และเข็มที่ 3 คือ ยาหยุดการเต้นของหัวใจ โดยขั้นตอนการฉีดยาประหารชีวิตจะใช้เวลาประมาณ 25 นาที จากนั้นแพทย์และคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้แทนอัยการจังหวัด ผู้กำกับการสถานีตำรวจ ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ จะตรวจสอบว่า นักโทษประหารเสียชีวิตตามคำพิพากษา จากนั้นนำศพนักโทษบรรจุในโลงเย็น ซึ่งมีความเย็น -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนจะให้แพทย์ตรวจเป็นครั้งสุดท้าย และให้ญาติรับไปบำเพ็ญกุศลในวันรุ่งขึ้น
   
    สำหรับ นายบัณฑิต เจริญวานิช และ นายจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ กับพวกอีก 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) จับกุมได้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2544 พร้อมของกลางยาบ้า 114,219 เม็ด ต่อมาศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต นายบัณฑิต และ นายจิรวัฒน์ อีกทั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีมติให้ยึดอายัดทรัพย์สินของนายบัณฑิต และนายจิรวัฒน์ จำนวน 73 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 41,666,289 บาท
   
    ก่อนหน้านี้ ราวเดือน ม.ค.2548 กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการประหารชีวิตแบบใหม่ด้วยการฉีดยา ให้กับนักโทษรวม 4 ราย คือ 1.นช.บุญลือ นาคประสิทธิ 2.นช.พันพงษ์ สินธุสังข์ 3.นช.วิบูลย์ ปานะสุทธะ ซึ่งนักโทษทั้ง 3 คน ต้องโทษคดียาเสพติด โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2541 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้ง 3 คน ฐานร่วมกันผลิตเมตแอมเฟตามีน หรือยาบ้า จากการตรวจค้นพบอุปกรณ์การผลิต พร้อมกับยาบ้า จำนวน 115,800 เม็ด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิต จำเลยทั้ง 3 อุทธรณ์ขอให้ลดโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้ง 3 คน ฎีกา แต่ศาลฎีกาพิพากษายืน
   
    ส่วนนักโทษคนที่ 4 คือ นช.พนม ทองช่างเหล็ก พฤติกรรมความผิด เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2542 จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายแสงชัย ทองเชื้อ ผู้ตายจำนวน 4 นัด ขณะนั่งรับประทานอาหารร่วมกับพวก ที่ตำบลวิชัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่ได้จับกุมและแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้การประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษายืน

417
ตามคำถาม ถ้าที่สาขาชลบุรี ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และไม่ได้ประกาศเป็นวันหยุด คุณnamspmk ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องมาทำงานนะครับ คงจะไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มแต่อย่างใดครับ

ผมมีข้อแนะนำครับ คุณnamspmk ไม่ต้องไปมีความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันหรอกครับ เพราะคนที่ประสบภัยเขาเดือดร้อนจริงๆ การที่บริษัทเยียวยาโดยการที่ยังให้เงินเดือนพวกเขาอยู่นับว่าบริษัทเขากระทำดีมากแล้วครับ ส่วนคนที่ไม่ได้ผลกระทบ ก็ควรจะทำหน้าที่ของตนในสังคมต่อไปนะครับ

418
ขอตอบคำถามแบบคร่าวๆนะครับ เพราะข้อเท็จจริงมีเท่านี้

การมอบเงินค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่ผู้เป็นแม่ ถ้าไม่ทำหลักฐานไว้เป็นหนังสือ ก็จะพิสูจน์ยากนะครับ แต่หากบุตรทราบถึงเรื่องนี้อาจจะให้บุตรเป็นพยานในศาลได้ ว่ามีการส่งมอบเงินค่าเลี้ยงดูบุตรไว้ให้แก่แม่แล้ว กรณีนี้ใช้ได้หากถูกฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรครับ

ส่วนการฟ้องคดีนั้นแยกเป็นประเด็นได้ 2 ประเด็นครับ

กรณีแรก คือ ตั้งเรื่องฟ้องเรียกคืนเงินที่ส่งมอบให้แก่แม่ไปในฐานที่เป็นเงินค่าเลี้ยงดูบุตร ซึ่งหากแม่นำไปใช้หมด ผู้เป็นพ่ออาจใช้สิทธิเรียกคืนได้ครับ เรื่องวิธีการตั้งเรื่องฟ้องคดี คงต้องปรึกษาทนายความแบบจริงจังครับ (และอาจมีค่าใช้จ่าย)

กรณีที่สอง คือประเด็นเรื่องการจำนองที่ดินที่มีชื่อบุตร (อายุ 18 ปี) นั้น ผมเห็นว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ครับ เพราะว่าเจ้าพนักงานที่ดินคงต้องขอหลักฐานคำสั่งศาลในการจดทะเบียนจำนอง เนื่องจากนิติกรรมจำนองที่ดิน ผู้เยาว์ไม่อาจทำได้โดยไม่มีคำสั่งศาลครับ คงเป็นการนำโฉนดไปวางเป็นประกันหนี้เงินกู้มากกว่า ซึ่งน่าจะต้องตั้งประเด็นไปในเรื่องของการฟ้องเรียกคืนโฉนดที่ดินครับ เว้นแต่มีการขออนุญาตจากศาลโดยชอบแล้ว การจำนองก็ย่อมชอบด้วยกฎหมายครับ การฟ้องเพิกถอนสัญญาจำนองที่ชอบแล้วย่อมกระทำไม่ได้ครับ

419
กรณีลูกจ้างไปทำงานไม่ได้ เพราะเหตุน้ำท่วมบ้าน ถนนหนทางต่างๆ การเดินทางยากลำบาก บางรายต้องอพยพออกนอกบ้าน ลูกจ้างเหล่านี้ หากนายจ้างเป็นเอกชนที่ไม่ประกาศหยุดงาน จะทำอย่างไรดี

ผมมีข้อแนะนำครับ

ก่อนอื่นลูกจ้างต้องแจ้งให้นายจ้างทราบถึงเหตุจำเป็นในเรื่องของเหตุน้ำท่วม ติดปัญหาเรื่องการเดินทาง ภาระรับผิดชอบเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยต่างๆ ให้นายจ้างรับทราบและขอใช้สิทธิลาหยุด ซึ่งกรณีเช่นนี้ นับว่าเป็นเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง นายจ้างจะบังคับให้เราไปทำงานไม่ได้

กรณีนายจ้างอนุญาต ก็คงไม่มีปัญหาใดๆครับ

แต่หากนายจ้างไม่ยินยอม และลูกจ้างขาดงานเกินกว่า 3 วัน เพราะเหตุน้ำท่วมเช่นนี้ (กรณีได้แจ้งแก่นายจ้างโดยชัดแจ้งแล้ว) นายจ้างก็ยังไม่มีสิทธิจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และหากนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้าง อาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้อีกด้วย ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้อีกส่วน

เรื่องนี้ค่อนข้างมีประเด็นซับซ้อนตามข้อเท็จจริงแต่ละกรณี หากใครมีข้อสอบถามเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ครับ (เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางกฎหมายในภาวะน้ำท่วมครับ)


420
เนื่องจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ โรงงานหลายๆโรงงานมักประสบปัญหาเรื่องการส่งมอบสินค้า

ดังนั้นผมจะมาบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวข้องกับกฎหมายในเรื่องของการซื้อขายสินค้าในช่วงที่น้ำท่วมนี้ครับ

สัญญาซื้อขาย ประเภทที่เป็นการสั่งซื้อสินค้าจากโรงงาน/ห้างร้านต่างๆ โดยทั่วไปมักจะกระทำกันในรูปแบบของการทำคำสั่งซื้อ (ออก PO) และผู้ขายก็จะจัดส่งสินค้าและเรียกเก็บเงิน (มีเครดิตหรือไม่ก็ตาม) ส่วนมากก็จะไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันไว้โดยชัดแจ้ง แต่มีเงื่อนไขต่างๆระบุในใบคำสั่งซื้อ

ลักษณะของการซื้อขายรูปแบบนี้ กรรมสิทธิ์ในสินค้าจึงยังอยู่กับผู้ขายจนกว่าผู้ขายจะได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้วเสร็จ

ดังนั้นในกรณีที่สินค้าเสียหาย หรือสูญหายเนื่องมาจากน้ำท่วม หากผู้ขายยังไม่ได้จัดส่งสินค้าก็ยังคงมีหน้าที่ตามสัญญาซื้อขาย คือ ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อกันครับ กรณีนี้ยังไม่ได้พูดไปถึงเรื่องค่าปรับต่างๆ ตามที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาซื้อขาย ซึ่งต้องไปว่ากันตามข้อสัญญาอีกที (ในกรณีที่ได้ระบุกันไว้ในเรื่องค่าเสียหายโดยชัดแจ้ง)

อย่างไรก็ตาม เหตุน้ำท่วมใหญ่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอย่างหนึ่งตามกฎหมาย การชำระหนี้ไม่ได้เพราะเหตุสุดวิสัย (ในที่นี้หมายถึง ส่งมอบสินค้าไม่ได้เนื่องจากเหตุน้ำท่วมโดยตรง) ซึ่งเป็นเหตุที่จะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เช่นนี้คู่สัญญาอีกฝ่ายอาจปฎิเสธไม่รับชำระหนี้ (หมายถึง ผู้ซื้อขอยกเลิกสัญญาได้) ซึ่งจะเป็นผลให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เหมือนไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกันมาก่อนครับ

ในระหว่างคู่สัญญา การพูดคุยตกลงยกเลิกสัญญาต่อกัน หรือการตกลงกันขอเลื่อนการส่งมอบสินค้าออกไปก่อน เป็นข้อแนะนำที่ดีที่สุดในสภาวะเช่นนี้ครับ

หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15